วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

กวีนิพนธ์

กวีนิพนธ์
กวีนิพนธ์หมายถึง คำประพันธ์ที่แต่งขึ้นอย่างมีศิลปะ และมีคุณสมบัติเป็นสื่อกลางของความเข้าใจ

ระหว่างผู้แต่งกับผู้อ่านคำประพันธ์ที่มีศิลปะในการแต่งจะต้องใช้ภาษาที่งดงาม มีเสียง

จังหวะ ใช้ถ้อยคำที่เป็นสัญลักษณ์ ทำให้ผู้อ่านนึกเห็นภาพอย่างสวยงาม มีจินตนาการ มีความรู้สึก

สะเทือนใจลึกซึ้งสื่อกลางของความเข้าใจระหว่างผู้แต่งกับผู้อ่าน ก็คือแนวคิด

เนื้อหาที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ตรงหรือสอดคล้องกับประสบการณ์ของผู้อ่าน



ลักษณะสำคัญของกวีนิพนธ์
       1. ความมีศิลปะหรือความงามและการสื่อความหมาย
       2. มีรูปฉันทลักษณ์ตามแบบแผนแต่เดิม หรือฉันทลักษณ์อิสระ เช่น กลอนเปล่า และวรรณรูป


องค์ประกอบของกวีนิพนธ์

       1. รูปแบบ หมายถึง รูปฉันทลักษณ์ เสียง จังหวะ คำและการเรียงคำ ภาพ โวหาร สัญลักษณ์
       2. เนื้อหา กวีนิพนธ์มิได้บอกเนื้อหาออกมาตรง ๆ หากใช้ภาษาที่ซ่อนสารให้ผู้อ่านคิดจินตนาการ
เชื่อมโยงออกไป


ประเภทของกวีนิพนธ์

       1. กวีนิพนธ์ที่มีรูปฉันทลักษณ์ตามแบบแผน ได้แก่ คำประพันธ์ประเภทกาพย์ กลอน โคลง
       2. กวีนิพนธ์ที่มีรูปฉันทลักษณ์อิสระ เช่นกลอนเปล่า และวรรณรูป


การอ่านพิจารณาบทกวีนิพนธ์

       1. จับใจความสำคัญของเรื่อง หาแนวคิดหรือแก่นสำคัญของเรื่องว่าผู้เขียนกำลังเสนอเนื้อหาหรือ
       แนวคิดใด โดยใช้คำถามนำเบื้องต้นก่อนคือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ผลเป็นอย่างไร
หรือกวีกล่าวถึงสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอย่างไร
       2. เข้าใจความหมายหลายนัย ผู้อ่านต้องใช้จินตนาการ ความรู้สึกนึกคิด เชื่อมโยงความ ตีความ โดยคำนึงถึงจุดประสงค์ในการเขียน สถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่สอดคล้อง
       3. จับน้ำเสียงที่ปรากฏอยุ่ในแนวคิดหรือแก่นเรื่องของกวีนิพนธ์ ว่าผู้เขียนแสดงอารมณ์อย่างไร
เช่น เยาะเย้ย ประชดประชัน คร่ำครวญ เรียกร้อง ร่ำร้อง หรือ ชื่นชม เป็นต้น

       4. ศึกษาความหมายของคำ
              4.1 ความหมายโดยตรง(อรรถ) เช่น หมาป่า คือสุนัขชนิดหนึ่ง
              4.2 ความหมายโดยนัย ความหมายที่ซ่อนอยู่ เช่น หมาป่า มีความหมายแทนคนเจ้าเล่ห์ หมู
       หมายถึงเหยื่อ ผู้อ่อนแอถูกหลอกง่าย
              4.3 ความหมายตามนัยประหวัด เป็นความหมายที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิมของผู้อ่าน

       5. ฟังเสียงและจังหวะ หมายถึงเสียงในคำประพันธ์ คือระดับความสูงต่ำ ลีลา และน้ำหนักของ
       การออกเสียงอ่าน ซึ่งทำให้เกิดความไพเราะ ความรู้สึก จินตนาการ ความหมายและภาพที่แจ่มชัด
       ส่วนจังหวะคือ ท่วงทำนองของกลุ่มคำที่จัดวางเป็นวรรคตอนตามรูปแบบของฉันทลักษณ์เพื่อ
       เอื้อต่อการออกเสียง ให้เกิดความไพเราะ ความรู้สึก จินตนาการ ความหมาย และภาพในจินตนาการ
       ที่แจ่มชัด



ตัวอย่าง การเล่นเสียง  
ไผ่ซออ้อเอียดเบียดออด ลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่
ออดแอดแอดออดยอดไกว แพใบไล้น้ำลำคลอง
  ( คำหยาด : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

       6. จินตนาการให้เห็นภาพ หรือจินตภาพ หมายถึงการเขียนอย่างแจ่มแจ้ง โดยใช้คำที่มีความหมาย                      อ่านแล้วมองเห็นภาพ โดยไม่มีการเปรียบเทียบ ผู้อ่านสามารถมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัส
       ทางกาย อันก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ เช่น

              เฝ้าร้องครวญร้องขอจนคอขาด       หัวก็ฟาดพื้นพลิกระริกส่าย
              ส่งเสียงแว่ววิงวอนก่อนจะวาย        ต่อน้ำลายหวานลิ้มรอชิมเนื้อ (คำร้องขอ : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)



       7. ศึกษาโวหาร

              7.1 อุปลักษณ์ คือการเปรียบเทียบโยงความคิดอย่างหนึ่งไปสู่ความคิดหนึ่ง โดยใช้คำว่า
       "คือ" "เป็น"   อยู่ในประโยค เช่น
              คือน้ำผึ้งคือน้ำตาคือยาพิษ      คือหยาดน้ำอมฤตอันชื่นชุ่ม
              คือเกสรดอกไม้คือไฟรุม        คือความกลุ้มคือความฝัน…..นั่นแหละรัก

              7.2 อุปมาอุปไมย คือการกล่าวเปรียบเทียบความเหมือนกันสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง โดยใช้คำเชื่อมว่า
       ดุจ เหมือน เฉก ดัง เหมือนกับว่า ราวกับ ประหนึ่ง คล้าย กล ถนัด เพียง แม้ ย่อม เปรียบ อย่าง เช่น
              ยิ้มไว้เถิดยิ้มไว้ใจแช่มชื่น               เมื่อพักตร์รื่นชนชมนิยมเสมอ
              ยิ้มงามเหมือนความฝันอันเลิศเลอ       ดุจเสนอผู้อื่นให้ชื่นชม

              7.3 คำกล่าวเกินจริง คือโวหารซึ่งกวีบรรยายออกมาแล้วจะนำเอาความจริงมาจับไม่ได้ เพราะ
       เกินความจริง เป็นความรู้สึกที่วัยรุ่นปัจจุบันเรียกว่า เวอร์นั่นเอง เช่น
              มาดแม้จะหาดวง           วิเชียรช่วงเท่าคีรี
              หาดวงสุริย์ศรี               ก็จะได้ดุจดังใจ
              จะหาโฉมให้เหมือนนุช     จนสุดฟ้าสุราลัย
              ตายแล้วและเกิดใหม่       ไม่เหมือนเจ้านฤมล (กาพย์นางลอย)

       8. ตีความสัญลักษณ์
       สัญลักษณ์หมายถึงการนำคำหนึ่ง ๆ มาหมายความแทนอีกคำหนึ่ง โดยคำที่นำมานั้นเป็นที่รู้จัก
       และเข้าใจกันทั่วไป เช่น สีทอง หมายถึง นิมิตหมายที่ดี ฤกษ์ดี หรือสง่างาม สีชมพู หมายถึง
       ความรัก ความสุข ความปลาบปลื้ม ดอกหญ้า หมายถึง ความต่ำศักดิ์

       ตัวอย่าง
              ดอกหญ้าต้นข้างกายปลายหักพับ        ซบยอดกับโคนต้นคอยคนย่ำ
              เพราะอ่อนแอจึงเข็ญเป็นประจำ        ค่าความช้ำระหว่างเรามีเท่ากัน
                                          (ดอกหญ้า : เกษม บุณยมาลิก)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น