วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

รสของบทประพันธ์

รสวรรณคดีไทย
รสวรรณคดีไทย  มี  4  รส
        1. เสาวรจนี    หมายถึง  รสชมโฉม
        เสาวรจนี  (บทชมโฉม)  คือการกล่าวชมความงามของตัวละครในเรื่อง  ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งตัวละครที่เป็นอมุนษย์  มนุษย์  หรือสัตว์

ตัวอย่าง

        บทชมโฉมนางมัทนา  โดนท้าวชัยเสนรำพึงรำพันไว้ในวรรณคดีเรื่องมัทนะพาธา

                        เสียงเจ้าสิเพรากว่า                     ดุริยางคะดีดใน

                ฟากฟ้าสุราลัย                                   สุรศัพทะเริงรมย์

                ยามเดินบเขินขัด                                กละนัจจะน่าชม

                กรายกรก็เร้ารม                                 ยะประหนึ่งระบำสรวย

                ยามนั่งก็นั่งเรียบ                               และระเบียบเขินขวย

                แขนอ่อนฤเปรียบด้วย                        ธนุก่งกระชับไว้

                พิศโฉมและฟังเสียง                          ละก็เพียงจะขาดใจ

                                                                                (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

        บทชมโฉมนางเงือก  ซึ่งติดตามพ่อแม่มาเพื่อพาพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร   จากเรื่องพระอภัยมณี

                        พงศ์กษัตริย์ทัศนานางเงือกน้อย      ดูแช่มช้อยโฉมเฉลาทั้งเผ้าผม

                ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนขำคม            ทั้งเนื้อนมนวลเปล่งออกเต่งทรวง

                ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด                   ดังสุรางค์นางนาฏในวังหลวง

                พระเพลินพิศคิดหมายเสียดายดวง          แล้วหนักหน่วงนึกที่จะหนีไป

                                                                                                          (พระสุนทรโวหาร  (ภู่))

        บทชมกวางทอง  ซึ่งท้าวทุษยันต์พบขณะประพาสป่า  เมื่อติดตามไปท้าวทุษยันต์จึงได้พบนางศกุนตลา  จากวรรณคดีเรื่องศกุนตลา

                        เหลือบเห็นกวางขำดำขลับ          งามสรรพสะพรั่งดังเลขา

                งามเขาเป็นกิ่งกาญจนา                       งามตานิลรัตน์รูจี

                คอก่งเป็นวงราววาด                          รูปสะอาดราวนางสำอางศรี

                เหลียวหน้ามาดูภูมี                             งามดังนารีชำเลืองอาย

                ยามวิ่งลิ่วล้ำดังลมส่ง                          ตัดตรงทุ่มพลันผันผาย

                                                                                (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
        2.นารีปราโมทย์     หมายถึง  รสแห่งความรัก  ออกในแนวโอ้โลม   ปฏิโลม
              นารีปราโมทย์   (บทเกี้ยวโอ้โลม)   คือ  การกล่าวแสดงความรักในการพบกันระยะแรกๆ  และในตอนโอ้โลม  ก่อนจะถึงบทสังวาสนั้นด้วย

ตัวอย่าง

                                       พระอภัยมณี

                               (พระอภัยมณีโอ้โลมนางละเวง)

                ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร               ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน

        แม้นเกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร                         ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา

        แม้นเนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ                   พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา

        แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา                       เชยผกาโกสุมปทุมทอง

        เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่                           เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง

        จะติดตามทรามสงวนนวลละออง                เป็นคู่ตรองพิศวาสทุกชาติไป

(พระสุนทรโวหาร (ภู่))

บทเห่สังวาส

                                พี่ชมพี่เชยแล้ว         พลางถาม

                        เจ้ามิอื้ออำความ               ไป่พร้อง

                        เจ้าเอื้อนมิเออขาม              เขินพี่   อยู่ฤา

                        ผินพักตรมาอย่าข้อง            ขัดแค้นเคืองเลย

(เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์)



วิวาหพระสมุทร

 (ในทำนองเพลงคลื่นกระทบฝั่ง)

                        อันโดรเมดาสุดาสวรรค์            ยิ่งกว่าชีวันเสน่หา

                ขอเชิญชาวสวรรค์ชั้นฟ้า                   เปิดวิมานมองมาให้ชื่นใจ

                ถึงกลางวันสุริยันแจ่มประจักษ์             ไม่เห็นหน้านงลักษณ์ยิ่งมืดใหญ่

                ถึงราตรีมีจันทร์อันอำไพ                    ไม่เห็นโฉมประโลมใจก็มืดมน

                อ้าดวงสุรีย์ศรีของพี่เอ๋ย                      ขอเชิญเผยหน้าต่างนางอีก

                ขอเชิญจันทร์ส่องสว่างกลางสกล            เยี่ยมมาให้พี่ยลเยือกอุรา

 (พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว)
        3.วิโรธวาทัง     หมายถึง   รสแห่งความโกรธเคือง  ตัดพ้อ  เสียดสี  เหน็บแนม  เยาะเย้ย  ถากถาง
               พิโรธวาทัง  (บทตัดพ้อ)  คือการกล่าวข้อความแสดงอารมณ์ไม่พอใจ  ตั้งแต่น้อยไปจนมาก  จึงเริ่มตั้งแต่  
ไม่พอใจ  โกรธ  ตัดพ้อ  ประขดประชัน  กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เสียดสี  และด่าว่าอย่างรุนแรง 

ตังอย่าง

        พระจันทโครบตัดพ้อนางโมราที่ยื่นพระขรรค์ไปทางทนายโจร   ทำให้นายโจรทำร้ายพระจันทโครบ

จากเรื่องจันทโครบ

                น้ำใจนางเหมือนน้ำค้างบนไพรพฤกษ์         เมื่อยามดึกดังจะรองเข้าดื่มได้

        ครั้นรุ่งแสงสุรีย์ฉายก็หายไป                             เพิ่งเห็นใจเสียเมื่อใจจะขาดรอน

(ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง)

        เมื่อได้ยินคนธรรพ์นาฏกุเวรขับเพลง  รื่นรื่ยชื่นจิตพี่จำได้...”  พระยาครุฑก็รู้ว่านาฏกุเวรได้แอบขึ้นไปสมสู่กับกากีบนวิมานสิมพลีของตน  จึงรำพันด้วยความโกรธและอาลัยรักกากี  หลังจากนั้นก็ขึ้นไปตัดพ้อนางกากี  ก่อนนำนางมาไว้ที่  หน้าพระลานของพระเจ้าพรหมทัต   จากเรื่องกากีคำกลอน

                        ครั้งนี้เสียรักก็ได้รู้               ถึงเสียรู้ก็ได้เชาวน์ที่เฉาฉงน

                เป็นชายหมิ่นชายต้องอายคน        จำจนจำจากอาลัยลาน

(เจ้าพระยาพระคลังหน)

        บทตัดพ้อที่แสดงทั้งอารมณ์รักและแค้นของ  อังคาร  กัลยาณพงษ์  จากบทกวีเสียเจ้า

                        จะเจ็บจำไปถึงปรโลก      ฤารอยโศกรู้ร้างจางหาย

                จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย             อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ

(อังคาร  กัลยาณพงษ์)

        บทตัดพ้อที่แทรกอารมณ์ขันของ  สุจิตต์  วงษ์เทศ  จากบทกวีปากกับใจ

                        เมื่อรักกันไม่ได้ก็ไม่รัก       ไม่เห็นจักเกรงการสถานไหน

                ไม่รักกูกูก็จักไม่รักใคร                เอ๊ะน้ำตากูไหลทำไมฤา

(สุจิตต์  วงษ์เทศ)

        4. สัลลาปังคพิไสย    หมายถึง  รสแห่งความโศกเศร้า  คร่ำครวญ  สูญเสีย
                 สัลลาปังคพิไสย  (บทโศก)  คือการกล่าวข้อความแสดงอารมณ์โศกเศร้า  อาลัยรัก

ตัวอย่าง

        บทโศกของนางวันทอง  ซึ่งคร่ำครวญอาลัยรักต้นไม้ในบ้านขุนช้าง  อันแสดงให้เห็นว่านางไม่ต้องการติดตามขุนแผนไปแต่ก็ต้องไปเพราะขุนแผนร่ายมนตร์สะกด  เมื่อเห็นว่านางมัวร่ำไรลาต้นไม้  สิ่งของอยู่นั่นเอง  จากเรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนขุนแผนพานางวันทองหนี

                        ลำดวนเอ๋ยจะด่วนไปก่อนแล้ว          ทั้งเกดแก้วพิกุลยี่สุ่นสี

                จะโรยร้างห่างสิ้นกลิ่นมาลี                      จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ

(พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)

        สุนทรภู่คร่ำครวญถึงรัชกาลที่ 1  ซึ่งสวรรคตแล้ว   เป็นเหตุให้สุนทรภู่ต้องตกระกำลำบาก  เพราะไม่เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 3  ต้องระเห็จเตร็ดเตร่ไปอาศัยในที่ต่างๆ  ขณะล่องเรือผ่านพระราชวัง  สุนทรภู่ซึ่งระลึกถึงความหลังก็คร่ำครวญ  อาลัยถึงอดีตที่เคยรุ่งเรือง  จากนิราศภูเขาทอง

                        เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตรลบ   ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา

                สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา                       วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์

(พระสุนทรโวหาร  (ภู่))

        กาพย์นางลอย  ตอนหนึ่งในบทพากย์รามเกียรติ์  แสดงคำรำพันอาลัยอาวรณืของพระรามที่มีต่อนางสีดา  (นางเบญกายปลอมตัว  แกล้งทำเป็นตายลอยน้ำมา)

                        พระโกศทองจะรองรับ               สำหรับราชเทวี

                เชิญศพขึ้นสู่สี-                                  วิกาแก้วอันเรืองรอง

                เข้าสู่พระเมรุมาศ                               อันโอภาสด้วยเทียนทอง

                แสงเพลิงจะเริงรอง                            ไปต้องสีวิสูตรพลาย

                อัจกลับจงกลกลีบ                                 ประทีปทองจะส่องฉาย

                พู่ห้อยเพดารราย                                 ระรวยรื่นรำเพยลม

                พระวิสูตรจะวงวัง                               บัลลังก์ทิพบรรทม

                รูปภาพจะเคียมคม                               กินนรฟ้อนอยู่ผาดผัน

                อีกพระญาติวงศา                                 ก็จะมาประชุมกัน

                แสนสาวพระกำนัล                              จะนอบน้อมประนมกร

                ยามค่ำจะร่ำไห้                                   วิเวกใจให้อาวรณ์

                เสียงสังข์และแตรงอน                         จะประโคมอยู่ครืนเครง

(พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
รสวรรณคดีสันสกฤต

รสวรรณคดีสันสกฤต  มี  9  รส  ดังนี้
        1.    ศฤงคารรส                หมายถึง            รสแห่งความรัก
        2.    หาสยรส                  หมายถึง            รสแห่งความขบขัน
        3.    กรุณารส                  หมายถึง            รสแห่งความสงสาร
        4.    รุทธรส                    หมายถึง            รสแห่งความโกรธเคือง
        5.    วีรรส                      หมายถึง            รสแห่งความกล้าหาญ
        6.    ภยานกรส               หมายถึง            รสแห่งความกลัว   ความเวทนา
        7.    พีภติสรส                หมายถึง            รสแห่งความรังเกียจ
        8.    อัพภูตรส                หมายถึง            รสแห่งความพิศวง  ความประหลาดใจ
        9.    ศานติรส                 หมายถึง            รสแห่งความสงบ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น